เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรง”เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศดำริ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เข้าร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พร้อมเข้ารับพระราชทานโล่ เข็มที่ระลึก และร่วมฉายพระบรมฉายาลักษณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง” ขึ้นในพื้นที่ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามศูนย์วิจัยฯ ว่า “ชนกาธิเบศรดำริ” มีความหมายว่า เป็นศูนย์รวมการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง สืบสาน รักษา และต่อยอดตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และมูลนิธิโครงการหลวงมุ่งให้ศูนย์วิจัยแห่งนี้ฯ เป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาพื้นที่สูง เกิดประโยชน์แก่ชาวเขาชาวเรา และชาวโลก ตามพระราชปณิธานที่ตั้งไว้ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนแก่พื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย
การดำเนินงานภายใต้ศูนย์วิจัยฯ ชนกาธิเบศรดำริ มีความครบวงจรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชและเทคโนโลยีการผลิตพืชปลอดโรค การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืช พร้อมบริการตรวจวินิจฉัยโรคและแมลงแก่บุคคลภายนอก การวิจัยและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการบริหารจัดการหลังการเก็บเกี่ยว มุ่งสู่การเป็นสถานที่เรียนรู้แบบครบวงจร แหล่งฝึกประสบการณ์ของนิสิต นักศึกษา วางแผนพัฒนาระบบการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อเผยแพร่แนวทางพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือโครงการหลวงโมเดล ให้เป็นที่รับรู้ ขยายประโยชน์สู่ประชาชนชาวไทยและประเทศต่าง ๆ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ