วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 12.26 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปีการศึกษา 2564-2565 (ครั้งที่ 45) เป็นวันที่สอง ซึ่งมีบัณฑิตจากคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จำนวน 1,232 ราย เข้าร่วมพิธี ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีรากฐานทางการเกษตรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ มีวิสัยทัศน์เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความเป็นเลิศทางการเกษตรในระดับนานาชาติ” และพร้อมก้าวสู่ทศวรรษใหม่แห่งการเปลี่ยนแปลง การเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่ม 2 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยี และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของประเทศในการพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ ด้วยแผนพัฒนาความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พ.ศ.2566-2570 “พลิกโฉมมหาวิทยาลัยสู่การสร้างบัณฑิตผู้ประกอบการเศรษฐกิจสร้างคุณค่า ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ” ได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติจำนวนมาก ด้วยปณิธานที่มุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นผู้อุดมด้วยปัญญา อดทน สู้งาน เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาของสังคมไทยที่มีการเกษตรเป็นรากฐาน ซึ่งอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของบัณฑิตแม่โจ้ คือ “เป็นนักปฏิบัติทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา” เป็นที่ประทับใจและเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเจอ เป็นนักจิตอาสา เป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม นอกจากด้านการผลิตบัณฑิตแล้ว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ยังได้สนับสนุนและส่งเสริมด้านการวิจัยที่ต่อยอดองค์ความรู้จนเกิดเป็นรูปธรรม เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับชาติและนานาชาติ สามารถนำไปช่วยเหลือ พัฒนาภาคการเกษตรของไทยได้อย่างแท้จริง
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีนักศึกษาประมาณ 13,500 คน มีการจัดการเรียนการสอน 15 คณะ 3 วิทยาลัย ในทั้งหลักสูตรปกติและหลักสูตรนานาชาติ (รวมพื้นที่การเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ, มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร) โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ, กลุ่มเกษตรศาสตร์ และ กลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
โอกาสนี้ พระราชทานพระโอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ดังนี้
“การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ในระดับครัวเรือน เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเสถียรภาพทางอาหารของประเทศ เพราะเป็นการเสริมความมั่นคงในระดับฐานรากอย่างแท้จริง ในการนี้ ต้องอาศัยความรู้ในการบริหาร จัดการพื้นที่ ร่วมกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบตามศาสตร์พระราชา โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับธรรมชาติ ผสมผสานกับภูมิปัญญาพื้นถิ่น หากบัณฑิตจะได้นำความรู้ที่มีอยู่ ไปปฏิบัติใช้ให้สำเร็จผลดังกล่าวนี้ และสามารถส่งเสริมให้ประชาชนปฏิบัติได้อย่างกว้างขวางแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์แก่การพัฒนาภาคการเกษตร ทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้าและผาสุกมั่นคง ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน และผู้มาร่วมในพิธีนี้ทุกท่าน มีความเจริญสวัสดีทุกเมื่อทั่วกัน”